Search

รัฐธรรมนูญ 2560: สรุป 5 เหตุผลหลักของ ส.ว. ส่อโหวตคว่ำร่างแก้ไข รธน. - บีบีซีไทย

  • หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ธรรมนัส พรหมเผ่า เดินทางมาสภาด้วยเรือ

สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หลายคนชิงประกาศจุดยืน "ไม่เห็นด้วย" กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนการลงมติจริงจะเริ่มขึ้นในเวลาประมาณ 18.00 น.

ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาอยู่ระหว่างการพิจารณาญัตติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม รวม 6 ฉบับ เป็นวันที่ 2 ก่อนลงมติในช่วงเย็นวันนี้ (24 ก.ย.) ในเวลาไล่เลี่ยกับการนัดจัดกิจกรรมบริเวณหน้ารัฐสภา ย่านเกียกกาย ของนักศึกษาและประชาชนที่เรียกตัวเองว่า "คณะประชาชนปลดแอก" โดยใช้ชื่อว่า "ไปสภา ไล่ขี้ข้าศักดินา ผูกโบว์ ปราศรัย ยื่นใบลาออก"

กิจกรรมดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการประกาศ 3 ข้อเรียกร้อง ที่ให้หยุดคุกคามประชาชน จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และยุบสภา พร้อมยื่นข้อเรียกร้องเพิ่มเติมว่าภายในเดือน ก.ย. ต้องไม่มี ส.ว. ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญบางฉบับของฝ่ายค้าน ที่มุ่งลดทอนอำนาจของสมาชิกสภาสูง หรือที่รู้จักในชื่อ "ปิดสวิตช์ ส.ว."

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายตอนหนึ่งว่า การลงมติในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าจะส่งผลต่อสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศว่าจะผ่อนคลายหรือตึงเครียดยิ่งขึ้น และมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นจุดแตกหักทางการเมือง เนื่องจากมีการแบ่งความคิดออกเป็น 2 ฝ่าย แม้ส่วนตัวเคยลงมติรับรัฐธรรมนูญปี 2560 ในชั้นประชามติ แต่วันนี้สถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไป จึงเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางไปสู่การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะเป็นทางออกหนึ่ง

สาทิตย์ วงศ์หนองเตยนั่งในสภา

นายสาทิตย์เป็น 1 ใน 9 ส.ส. ปชป. ที่ "หันหลังให้สภา" เมื่อปี 2556 แล้วผันตัวไปเป็นแกนนำชุมนุมประท้วงรัฐบาลบนท้องถนนในนาม กปปส. ก่อนยุติบทบาทด้วยรัฐประหารปี 2557 มาวันนี้เขาตั้งคำถามกับเพื่อนร่วมรัฐสภาว่า "จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยคลี่คลายขจัดความขัดแย้งของสังคมไทยนี้ไปได้อย่างไร"

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ เสนอโดยรัฐบาล 1 ฉบับ และฝ่ายค้าน 5 ฉบับ ซึ่งถือเป็น "เรื่องด่วน" สุดท้ายที่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาก่อนปิดสมัยประชุมในเที่ยงคืนวันนี้ (24 ก.ย.)

ในการลงมติ จะใช้วิธีขานชื่อสมาชิกเรียงลำดับตามตัวอักษร แล้วให้ลงมติด้วยวาจาว่า "เห็นด้วย" หรือ "ไม่เห็นด้วย" กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทีละฉบับจนครบ 6 ฉบับ ทั้งนี้ประธานรัฐสภาคาดการณ์ว่าจะใช้เวลาราว 4 ชม.

ในการผ่านวาระแรก ต้องได้คะแนนเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภา "ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง" ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา หรือ 369 จาก 737 เสียง (ส.ส. ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้มี 487 คน และ ส.ว. มี 250 คน) ในจำนวนนี้ต้องเป็นคะแนนเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. "ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3" ของวุฒิสภาที่มีอยู่ หรือ 84 คน

จนถึงเวลา 16.00 น. มี ส.ว. เพียง 2 คนที่ประกาศกลางสภาว่าพร้อมผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ในวาระแรก เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) คือ นายคำนูญ สิทธิสมาน และนายวันชัย สอนศิริ

มี ส.ว. 1 คนคือ พล.อ. นาวิน ดำริกาญจน์ ประกาศพร้อมลงมติสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขระบบเลือกตั้ง ของฝ่ายค้าน

ส่วน ส.ว. ที่ลุกขึ้นอภิปรายรายอื่น ๆ ล้วนแต่อภิปรายแสดงความไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560

ผู้ชุมนุมคณะประชาชนปลดแอกถือป้ายประท้วง

สรุปเหตุผลของ ส.ว. ที่ประกาศ "คว่ำญัตติแก้ รธน."

1. อ้างผลประชามติ

รัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านการลงประชามติด้วยเสียงสนับสนุนจากประชาชน 16.8 ล้านเสียง และ "คำถามพ่วง" ที่ให้อำนาจ ส.ว. ร่วมลงมติเลือกนายกฯ ก็ผ่านการประชามติด้วยคะแนน 15.1 ล้านเสียง ก่อนถูกบรรจุเป็นบทเฉพาะกาลในมาตรา 272 จึง "ไม่อาจทรยศประชาชน" หากจะแก้ไขก็ต้อง "คืนอำนาจให้ประชาชน" ด้วยการทำประชามติเสียก่อน ไม่ใช่ผ่านกฎหมายแบบ "สร้างลูกมาฆ่าแม่" หรือตัดสินใจ "รื้อบ้านทั้งหลังโดยไม่ถามเจ้าของบ้านอย่างประชาชน"

2. อ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

การแก้ไขมาตรา 256 คือการ "ร่างใหม่ทั้งหมด" ซึ่งเท่ากับเป็นการ "ตีเช็คเปล่า" ให้ ส.ส.ร. เป็นผู้จัดทำ พร้อมหยิบยกคำวินิจฉัยรัฐธรรมนูญปี 2555 ที่ว่า "อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน" และ "ควรให้ประชาชนลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่" หลังรัฐบาลในเวลานั้นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 291 เพื่อเปิดทางไปสู่การมี ส.ส.ร. แบบที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน หากรัฐสภาผ่านญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไป ก็อาจจะมีผู้ไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

3. อ้าง "สิ้นเปลืองงบประมาณ"

ส.ว. ส่วนใหญ่เห็นว่าประชาชนไม่ได้เดือดร้อนกับกติกาสูงสุดฉบับนี้ และเมื่อพิจารณาเนื้อหาในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติ ก็ไม่พบว่าประชาชนและประเทศชาติได้ประโยชน์ตรงไหน ตรงกันข้ามหากมีการจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ต้องลงประชามติถึง 3 ครั้ง ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน 1.5-2 หมื่นล้านบาท ทั้งที่ประเทศควรเก็บงบไว้แก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และปัญหาปากท้องของประชาชน

4. อ้าง "มีผลประโยชน์ได้เสีย"

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้าน 2 ฉบับ ที่ตัดสิทธิ ส.ว. ในการร่วมลงมติเลือกนายกฯ และตัดอำนาจ ส.ว. ในการติดตามแผนปฏิรูปประเทศ ถูก ส.ว. ส่วนหนึ่งมองว่าหากลงมติเห็นชอบจะเข้าข่าย "มีหน้าที่แล้วไม่ทำ" หรือ "มีหน้าที่แล้วจะยกเลิกหน้าที่" อาจถูกตั้งข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้

5. อ้างทำให้สังคมยิ่งแตกแยก

ส.ว. บางส่วนวิเคราะห์ตรงกันว่าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะทำให้ "สังคมยิ่งแตกแยก" และพยายามเชื่อมโยงไปถึงความเคลื่อนไหวนอกสภาของขบวนการนักศึกษาประชาชนว่าไม่ได้อยู่แค่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะมีบุคคลที่มีทัศนคติ "เลวร้าย บั่นทอน ทำลายการคงอยู่ของสถาบัน" จึงไม่เอื้อให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

Let's block ads! (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( รัฐธรรมนูญ 2560: สรุป 5 เหตุผลหลักของ ส.ว. ส่อโหวตคว่ำร่างแก้ไข รธน. - บีบีซีไทย )
https://news.google.com/__i/rss/rd/articles/CBMiKmh0dHBzOi8vd3d3LmJiYy5jb20vdGhhaS90aGFpbGFuZC01NDI3ODU1N9IBLmh0dHBzOi8vd3d3LmJiYy5jb20vdGhhaS90aGFpbGFuZC01NDI3ODU1Ny5hbXA?oc=5
ประเทศไทย

Bagikan Berita Ini

0 Response to "รัฐธรรมนูญ 2560: สรุป 5 เหตุผลหลักของ ส.ว. ส่อโหวตคว่ำร่างแก้ไข รธน. - บีบีซีไทย"

Post a Comment

Powered by Blogger.