Search

รุมกินโต๊ะแกนนำม็อบ โร่จับปักหมุดสนามหลวง - ไทยรัฐ

ย้ำหมุดปักลงกลางใจคนแล้ว

ทั้งนี้นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ โพสต์เฟซบุ๊กเพิ่มเติมระบุว่า “ถึงหมุดคณะราษฎร 2563 จะถูกรื้อถอนไปก็อย่าได้กังวล เพราะพราหมณ์ของเราได้ลงคาถาสาปแช่งให้คนรื้อ และคนสั่ง เสื่อมลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นที่เรียบร้อย ระหว่างรอคาถาออกผล ทุกคนสามารถดาวน์โหลดไฟล์แบบหมุดไปหล่อใหม่ได้ หมุดไม่ได้ปักที่พื้นสนามหลวง แต่ปักไว้ในใจคน”
แจ้งเอาผิด พ.ร.บ.โบราณสถาน

จากนั้นเวลา 12.30 น. ที่ สน.ชนะสงคราม นายสถาพร เที่ยงธรรม ผอ.กองโบราณคดี ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากกรมศิลปากร เข้าแจ้งความต่อ ร.ต.ท.วัชรพงษ์ ทองแดง รอง สว.(สอบสวน) สน.ชนะสงคราม เอาผิดกลุ่มบุคคลที่บุกรุกและทำลายโบราณสถานในท้องสนามหลวง กล่าวภายหลังให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน ว่า นำเอกสารการขึ้นทะเบียนสนามหลวงเป็นโบราณสถาน และภาพการชุมนุมจากสื่อต่างๆ มาแจ้งความดำเนินคดีผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมาตรา 10 อาจมีความผิดตามมาตรา 85 โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตำรวจรับเรื่องไว้เป็นคดีแล้ว แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะดำเนินคดีกับผู้ใดบ้าง

ปัดวุ่นไม่รู้หมุดที่ 2 หายไปไหน

นายสถาพรยังกล่าวถึงกรณีการรื้อถอดหมุดคณะราษฎรที่ 2 ว่า ทราบจากข่าวว่าหมุดหายไป แต่ไม่ทราบว่ามีผู้ใดไปขุดหรือทำลาย พื้นที่สนามหลวงมีหลายหน่วยงานดูแล โดย กทม.จะรับผิดชอบเรื่องการซ่อมแซม ส่วนกรมศิลป์รับผิดชอบการปรับปรุงพื้นที่โบราณสถานสำหรับใช้ประโยชน์ ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการใช้พื้นที่ยืนยันว่ามีบางเรื่องที่กรมศิลป์เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จะไปเข้าข้างใดข้างหนึ่งไม่ได้ เมื่อถามว่าอนุสาวรีย์ปราบกบฏบริเวณแยกหลักสี่ที่หายไปกว่า 2 ปี นายสถาพรตอบว่า ยังไม่มีความคืบหน้าว่าหายไปไหน แต่ทราบว่ามีหนังสือให้สำนักงานเขตต่างๆมาดูแล เพราะเคยทำเรื่องขออนุญาตเคลื่อนย้าย เมื่อถามว่าการถอดหมุดคณะราษฎรแล้วเปลี่ยนเป็นหมุดไพร่ฟ้าหน้าใสที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ถือเป็นโบราณวัตถุหรืออะไรที่กรมศิลป์ต้องรับผิดชอบหรือไม่ นายสถาพรตอบว่า กรมศิลป์ไม่ได้รับผิดชอบดูแล หากมีการทุบทำลายหมุดดังกล่าวเป็นหน้าที่ของ กทม.ที่จะรับผิดชอบ

อธิบดีกรมศิลป์ชี้ผิดอาญาชัด

นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า การเข้าแจ้งความกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถือเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ ในฐานะผู้ทำหน้าที่ดูแลพื้นที่โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกของชาติ ตามประกาศ พ.ร.บ.โบราณสถานฯ เนื่องจากมีกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปขุดเจาะลานคอนกรีตในพื้นที่สนามหลวง พร้อมนำหมุดคณะราษฎร 2563 ไปฝังไว้โดยไม่รับอนุญาต เป็นกฎหมายอาญา มีความผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯมาตรา 10 ส่วนประเด็นการบุกรุกพื้นที่สนามหลวง น่าจะเป็นประเด็นที่อยู่ในความดูแลของ กทม. มีการประสานงานกันในฐานะหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ที่ทำหน้าที่ดูแลบริหารจัดการพื้นที่สนามหลวง ซึ่งมีประกาศ และระเบียบการใช้พื้นที่สนามหลวงที่ระบุไว้ชัดเจน หลังจากนี้ถือเป็นขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องสืบสวนคดีต่อไป แต่กรมศิลปากรจะทำงานร่วมกับ กทม. และตำรวจ

“สิระ” แจ้งเอาผิด ส.ส.ฝ่ายค้าน

ต่อมา นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ เข้าแจ้งความที่ สน.ชนะสงคราม ให้ดำเนินคดีกับนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักธรรม นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ข้อหาร่วมชุมนุมในสถานที่ห้ามชุมนุม นายสิระกล่าวว่า มีภาพทั้ง 3 คน เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดยแสดงตัวด้วยการชูสามนิ้วในสถานที่ห้ามชุมนุม ทั้งที่เป็น ส.ส. ถือเป็นฝ่ายนิติบัญญัติแต่ทำผิดกฎหมายเสียเอง จึงไม่ทราบว่าเป็นพฤติกรรมที่ขาดจิตสำนึกหรือไม่ และวันที่ 23 ก.ย. จะยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภาขอให้สอบจริยธรรม ส.ส. ทั้ง 3 คนต่อไป การชุมนุมที่เกิดขึ้นมีการโจมตีให้ร้ายต่อสถาบัน ส่อไปถึงการล้มล้างการปกครอง ซึ่ง ส.ส.ทั้ง 3 คนมีพฤติกรรมร่วมสนับสนุน กำลังให้ทีมกฎหมายตรวจสอบเพื่อยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคต่อไป

แกนนำสลิ่มโผล่แจ้งจับ 3 แกนนำ

ช่วงบ่าย นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มคนเสื้อหลากสี ที่เคยออกมาโพสต์ยอมรับเป็นแกนนำกลุ่มสลิ่ม เข้าแจ้งความกับ พ.ต.ท.พิษณุ เกิดทอง สว. (สอบสวน) สน.ชนะสงคราม ให้ดำเนินคดี น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง
แกนนำเเนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน และนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ในความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยนำหลักฐานเอกสารข่าว ไฟล์ภาพ และเสียงการปราศรัยบนเวทีมาประกอบการแจ้งความ นพ.ตุลย์กล่าวว่า ถือเป็นการดูหมิ่นสถาบัน คนไทยทั้งหลายต่างไม่รู้สึกสบายใจ ไม่ได้อยากให้ทั้งสามต้องติดคุก แต่คาดว่าจะขอให้ได้รับการอภัยโทษตามกฎหมาย ไม่อยากให้เกิดเหตุแบบนี้ขึ้นอีก ยืนยันไม่ได้กลั่นแกล้ง แต่กฎหมายมีไว้เพื่อความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง

ชี้มีผู้ปราศรัยไม่สมควร 3–4 คน

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษก ตร. แถลงภาพรวมแนวทางการดำเนินคดีกับกลุ่มแกนนำผู้ร่วมชุมนุม เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. ว่า หลังจาก พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. รับหนังสือจากแกนนำผู้ชุมนุม เสนอมายัง ตร.แล้ว ฝ่ายกฎหมายอยู่ระหว่างตรวจสอบเนื้อหา เพื่อดำเนินการตามขั้นตอน มีประเด็นที่อยากชี้แจงเพิ่มเติม อาทิ แกนนำทำผิดกฎหมายการชุมนุมสาธารณะหลายด้าน รวมทั้งทำผิดตามกฎหมายอาญามาตราต่างๆ จากถ้อยคำการปราศรัยของแกนนำบางคนที่หมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดกฎหมายอาญา มีการใช้ถ้อยคำที่ไม่สมควรต่อสถาบัน ทั้งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในฐานะผู้รักษากฎหมาย เราต้องดำเนินการอย่างเต็มที่กับผู้ที่ละเมิด ทราบว่าวันนี้มีประชาชนบางคนไปแจ้งความดำเนินคดีไว้ที่ สน.ชนะสงครามแล้ว เบื้องต้นพบผู้ปราศรัยในลักษณะไม่เหมาะสมประมาณ 3-4 คน

มอบรอง ผบช.น.ดูแลสำนวน

พล.ต.ท.ปิยะกล่าวต่อว่า การดำเนินคดีกับแกนนำแยกเป็นต่างกรรมต่างวาระ ทั้งการเคลื่อนย้ายมวลชน ทำลายสิ่งกีดขวาง การรุกเข้าไปในสนามหลวง และการปราศรัย ส่วนการกระทำผิดที่ชัดเจนคือ การไม่แจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และความผิดตามที่กรุงเทพมหานคร และกรมศิลปากร มาแจ้งความร้องทุกข์ไว้ รวมทั้งกฎหมายอาญาอื่น ที่ปรากฏชัดเจนตามเอกสารและถ้อยคำต่างๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน มีรอง ผบช.น.ฝ่ายกฎหมายเป็นผู้ควบคุมดูแล

ตร.ริบหมุดไว้เป็นของกลางคดี

ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. กล่าวว่า ได้รับรายงานจาก สน.ชนะสงคราม มีการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดกับแกนนำประมาณ 10 ราย หลักๆเป็นข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ การชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนการบุกรุกไปใน ม.ธรรมศาสตร์ และสนามหลวง ทราบว่ามีกรุงเทพมหานครกับกรมศิลปากร ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์แล้ว กรณีแกนนำบางคนที่ทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างพิจารณาถอนประกัน สำหรับกรณีการถอนหมุดจากสนามหลวง ไม่ทราบว่าใครเป็นคนถอน แต่ตามหลักแล้วหมุดเป็นพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนต้องริบเอาไว้ ถือว่าเป็นของกลางในคดีอาญา ขณะนี้อยู่ในการดูแลรักษาของพนักงานสอบสวน

“โรม” ขออย่าใช้ ก.ม.ทำลายกัน

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า “ครั้งแล้วครั้งเล่าที่รัฐพยายามใช้กฎหมายสุดแต่จะนึกหามาได้ มาเล่นงานประชาชนผู้เห็นต่าง สนามหลวงถูกประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี 2520 ถามว่า ณ ตอนที่ประกาศ พื้นสนามหลวงมีการเทปูนมาก่อนหน้านั้นแล้วหรือไม่ เพิ่งจะมาทำเมื่อไม่กี่ปีนี้ ขอถามกลับว่าการมาเทปูนบนพื้นสนามหลวง จนในทางปฏิบัติกลายเป็นลานจอดรถทัวร์ แบบนี้เป็นการทำให้เสียหายหรือเสื่อมค่าในโบราณสถานหรือไม่ แล้วการที่ใครก็ไม่รู้ไปถอนหมุดคณะราษฎรออกจากลานพระบรมรูปทรงม้า เป็นการทำให้เสื่อมเสียคุณค่าในทางประวัติศาสตร์ของสถานที่ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถานด้วยหรือไม่ อย่าพยายามอ้างกฎหมายมาเป็นอาวุธทำร้ายประชาชนเลย

“จตุพร” มองนี่เป็นแค่จุดเริ่มต้น

ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า การชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น หนทางอีกยาวไกล สำหรับคนที่ผ่านทางอย่างตนมองหลากหลายปรากฏการณ์ หลังจากนี้มีอีกหลายเรื่องราวหนทางข้างหน้าจะเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม จะยากขึ้นตามลำดับ มองเพียงแค่ปรากฏการณ์เดียวไม่ได้ ในสมรภูมิการต่อสู้เพิ่งเริ่มต้น เห็นได้ชัดเจนว่าการที่ฝ่ายรัฐใช้กลไกกฎหมายทยอยจับทีละคนสองคน ถามว่าใครสร้างกระแสให้เกิดการชุมนุมเป็นจำนวนมาก ก็กลไกรัฐนั่นเอง ยืนยันว่ารัฐควรใช้หลักเมตตาธรรมมากกว่าใช้ข้อกฎหมายดำเนินการ กฎหมายอย่างเดียวแก้ไขปัญหาไม่ได้ ส่วนการปักหมุดคณะราษฎรที่ 2 คนที่เอาหมุดไปติดย่อมรู้ว่าอย่างไรก็ต้องถูกดึงออก เพียงแค่นั่งลุ้นว่าจะครบหนึ่งวันหรือไม่ เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ กรมศิลปากร ก็แสดงตนแล้วว่าเขาเป็นคนเอาออก

ทั้ง 2 ฝ่ายต้องช่วยป้องกันรุนแรง

นายจตุพรกล่าวต่อว่า ทั้งสองฝ่ายต้องช่วยกัน นักศึกษาประชาชนต้องยึดแนวทางสันติวิธี รัฐต้องดูแลรักษาความปลอดภัยป้องกันโรคแทรก แต่ละฝ่ายต้องไปทบทวน ต้องยอมรับเมื่อตัดสินใจมาสู้แล้ว ชีวิตจะไม่เหมือนเดิมอีก เป็นสัจธรรม หลังจากการชุมนุมอยู่ศาล อยู่เรือนจำ แต่คนตัดสินใจสู้ไม่มีความกลัวใดๆอยู่แล้ว การยุบสภาจะเป็นทางออก บ้านเมืองมีปัญหาก็เอาอำนาจกลับไปให้ประชาชน เพียงนายกฯแสดงเจตนาว่า ส.ว.ต้องทำตามเจตนารมณ์ของประชาชน ส.ส.เลือกใครเป็นนายกฯ ส.ว.ต้องโหวตตาม เราก็ไม่ต้องวิตกในมาตรา 272 กันอีก ต้องยอมรับเศรษฐกิจพังพินาศแล้ว ต้องคิดแล้วประเทศจะอยู่อย่างไรต่อไป

“บิ๊กตู่” อ้อนร่วมกันสร้างปรองดอง

วันเดียวกันเวลา 08.30 น. ที่ห้องแกรนด์ไดมอนด์ บอลรูม อาคารอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวปาฐกถาระหว่างเป็นประธาน การประชุมประจำปี 2563 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เรื่อง ชีวิตวิถีใหม่ประเทศไทยหลังโควิด ว่า เป็นเช้าเริ่มต้นของสัปดาห์การทำงานเพื่อประชาชนไทยให้ดีที่สุด วันนี้ทุกคนรู้ดีว่าเรากำลังเผชิญสถานการณ์ท้าทายอย่างโควิด-19 ส่งผลกระทบคนทั่วโลก สั่นคลอนทั้งเศรษฐกิจ การดำรงชีวิต และสังคมอย่างรุนแรง ต้องปรับปรุงเตรียมตัวเผชิญความเสี่ยงที่คาดเดาไม่ได้ เดินหน้าแก้ปัญหา คิดไปข้างหน้าเสมอ ทำงานเชิงรุก ทั้งหมดเป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ มียุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปเป็นเข็มทิศประเทศ ต้องรับมือวิถีนิวนอร์มอลให้เร็วที่สุด หากต้องการให้ประเทศและคนไทยได้รับการยอมรับ และปรับอันดับให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ต้องร่วมมือกันทำให้คนไทยทุกคนมีความสุขปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สังคมปรองดองสมานฉันท์ ทุกคนมีที่ยืน มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

อัตลักษณ์คนไทยรักความสงบ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า เรื่องการใช้งบประมาณทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย และขั้นตอน ขอร้องอย่าไปคิดว่าเป็นการช่วยคนรวย ช่วยคนจน รัฐบาลจำเป็นต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบให้ทั่วถึงในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ โดยเฉพาะช่วงปี 2564 และ 2565 การเดินหน้าจากนี้ไปคือความร่วมมือที่ทุกคนต้องช่วยกัน อัตลักษณ์ความเป็นไทยเป็นประเทศที่รักสงบ นี่คือความเป็นประเทศไทย สิ่งเหล่านี้เราไม่ควรเปลี่ยนแปลง หลายประเทศชื่นชม นิยม ยกย่อง เรื่องการศึกษาไม่ใช่แค่ได้จากโรงเรียนอย่างเดียว แต่ได้จากครอบครัว พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ครูอาจารย์ สอนอบรมมาในอัตลักษณ์ความเป็นไทยทั้งการเคารพผู้ใหญ่ มีความรัก สามัคคี เผื่อแผ่แบ่งปัน

ปลื้มบ้านเมืองกลับสู่ความสงบสุข

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ขอแสดงความยินดีที่ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย บ้านเมืองกลับเข้าสู่ความสงบสุขและสันติอีกครั้ง ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทำงานเสียสละ อดทน และอดกลั้น ขอฝากไปถึงประชาชนโดยรวม ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นหลักสำคัญยิ่งของคนไทยทั้งประเทศ เมื่อถามว่าแต่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยุติเพียงแค่นี้ และประกาศเคลื่อนไหวอีกครั้งวันที่ 24 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า ก็ติดตามตอนต่อไป เมื่อถามว่าการปักหมุดคณะราษฎร 2563 ถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบสั้นๆว่า “จ้าๆ”

“วิษณุ” ยันใช้ ก.ม.ไม่ได้คุกคาม

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่รัฐบาลปฏิบัติตามกฎหมายไม่ใช่การคุกคามผู้ชุมนุม หากคุกคามคงไม่สามารถชุมนุมกันได้ ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญขอให้ใจเย็นๆ จะเร็วกว่านี้ไม่ได้ เพราะสุดท้ายต้องออกเสียงประชามติ เมื่อถามว่าเนื้อหาการอภิปรายของผู้ชุมนุมที่หมิ่นเหม่ ฝ่ายความมั่นคง หรือรัฐบาลจะให้แนวทางอะไรหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า รัฐบาลคงไม่ดู เรื่องคดีเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ ส่วน ส.ส.ที่ไปร่วมสังเกตการณ์จะให้ดำเนินการข้อหาอะไร ข้อหาไม่สมควรหรือ เมื่อถามว่าได้ฟังเนื้อหาการปราศรัยรู้สึกตกใจหรือไม่นายวิษณุตอบตัดบทว่า “พิศวง”

“ชวน” เสียดายบรรจุร่างไอลอว์ไม่ทัน

ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีกลุ่มไอลอว์เตรียมยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ในวันที่ 22 ก.ย.นี้ ว่า ได้ดูรายละเอียดที่ไอลอว์ยื่นเข้ามาแล้ว อยากให้นำเข้าพิจารณาได้ทันในการประชุมวันที่ 23 ก.ย.นี้ แต่เจ้าหน้าที่รายงานว่าไม่สามารถบรรจุญัตติพิจารณาได้ทัน เนื่องจากเพิ่งมีการเสนอเรื่องเข้ามา ต้องใช้เวลาตรวจสอบความถูกต้องโดยละเอียด เพราะหากเกิดข้อผิดพลาด สภาฯต้องรับผิดชอบ เมื่อเข้าสมัยประชุมนี้ไม่ทัน หากตรวจสอบเสร็จแล้วสามารถบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระในสมัยประชุมถัดไป เสียดายที่ส่งมาช้าไปหน่อย เพราะอยากให้พิจารณาไปพร้อมๆกัน เพื่อให้ทุกฝ่ายมีโอกาสอภิปรายร่วมกัน เมื่อถามว่ากรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ขอให้ประธานสภาฯ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของฝ่ายค้าน 4 ญัตติ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จะมีปัญหากับการอภิปรายร่วมรัฐสภา ในวันที่ 23-24 ก.ย.นี้หรือไม่ นายชวนตอบว่า ไม่มีญัตติไหนมีปัญหา

มั่นใจม็อบไม่กดดันการลงมติ

นายชวนกล่าวอีกว่า ส่วนที่กลุ่มนักศึกษาแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นัดชุมนุมที่หน้ารัฐสภาในวันที่ 24 ก.ย. ไม่มีปัญหา สภาฯมีคนมาอยู่ทุกวัน ยิ่งในวันประชุมมีมาหลายกลุ่ม สภาฯต้องดูแลอำนวยความสะดวก อย่าให้มีปัญหา ทั้งการรักษาความปลอดภัยและการระมัดระวังไม่ให้เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 เมื่อถามว่าจะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจลงมติหรือไม่ นายชวนตอบว่า ไม่คิดว่าจะมาคุกคามอะไร คงมาตามปกติ มาแสดงความเห็น ความประสงค์ เป็นเรื่องปกติเหมือนแต่ละกลุ่มที่มาแต่ละครั้ง ไม่มีผลอะไร ส่วนแนวทางการลงมติในญัตติทั้ง 6 ฉบับ จะประชุมร่วมวิป 3 ฝ่าย ในวันที่ 22 ก.ย.นี้

สภาฯเล่นใหญ่เตรียม ฮ.ขนคน

นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทน ราษฎร กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรักษาความปลอดภัย ในวันที่ 24 ก.ย. ว่า สภาฯไม่กีดกันการแสดงความคิดเห็นของประชาชน แต่ตอนนี้ยังไม่พร้อมรับรองคนเป็นหมื่น ทั้งนี้ได้หารือกับรองเลขาธิการสภาฝ่ายรักษาความปลอดภัย และประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งสน.บางโพ หน่วยทหารที่ดูแลความมั่นคง จะประชุมร่วมกันประเมินสถานการณ์ ขณะนี้ได้สั่งยกระดับการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุด ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.จะมีเวรยามมากขึ้น ดูแลบริเวณโดยรอบรัฐสภาตลอด 24 ชั่วโมง หากมีอะไรเกิดขึ้นสามารถประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทันที สภาฯเตรียมทางหนีทีไล่ทุกทาง ถ้าจำเป็นต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ก็ดำเนินการจอดได้บริเวณชั้นบนสุดของอาคารรัฐสภา รวมถึงมีตำรวจน้ำที่ดูแลความปลอดภัยบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา 24 ชั่วโมง และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รักษาความปลอดภัยโดยรอบ

“หยุย” โอ่รัฐบาลกดปุ่มสั่งไม่ได้

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว. กล่าวว่า ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตนายกฯนั้น ส.ว.250 คนมีความหลากหลายทางความคิด ส่วนตัวไม่ติดใจกับการแก้ไขรายมาตรา แต่ห้ามยุ่งกับหมวด 1
และ 2 เมื่อถามว่าแกนนำผู้ชุมนุมเชื่อมั่นว่านายกฯสามารถสั่ง ส.ว. 250 คนได้ นายวัลลภตอบว่า สั่งไม่ได้ ส.ว.ทุกคนมีเอกเทศ มีจุดยืนของตัวเอง ยืนยันสั่งไม่ได้ ที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยมาสั่ง ตอนโหวตเลือกนายกฯก็ไม่มีใครสั่ง ขณะนี้ที่สับสนเพราะมี 6 ร่าง จะโหวตกันอย่างไร ยังเป็นปัญหาอยู่ ต้องไปดูรายละเอียด ถ้ามีแค่ 2 ร่างแรก อาจโหวตง่ายหน่อย

ครช.บี้ ส.ส.–ส.ว.รับหลักการตั้ง ส.ส.ร.

อีกด้าน คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน(ครช.) นำโดยนายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ยื่นหนังสือถึง ส.ส.และ ส.ว. เรียกร้องให้ลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 24 ก.ย.นี้ มีนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ประธานวิปฝ่ายค้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย และนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมรับหนังสือ นายอนุสรณ์กล่าวว่า มายื่นหนังสือเรียกร้องให้ ส.ว.อย่างน้อย 84 เสียง รับหลักการญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยต้องเลือกฉบับที่ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงเท่านั้น และขอให้ ส.ว.ลงมติรับหลักการในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของฝ่ายค้าน ว่าด้วยการปิดสวิตช์ ส.ว.ด้วย เพราะส.ว.เป็นปัญหาต่อระบอบประชาธิปไตย

“สุทิน” ห่วงรัฐใช้วิชามารขวาง

นายสุทินกล่าวว่า แนวทางที่ ครช.และเครือข่ายประชาชนยื่นมา สอดคล้องกับฝ่ายค้านที่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เปิดทางให้มี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งโดยตรง 200 คน และปิดช่องไม่ให้มีการเตะหมูเข้าปากหมา ด้วยการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราปิดสวิตช์ ส.ว.ควบคู่ไปด้วย ส่วนการพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญวันที่ 23-24 ก.ย. ยังวางใจไม่ได้ว่าฝ่ายที่ไม่อยากให้แก้ไขจะใช้วิชามารหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีความพยายามขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญต่อเนื่อง เรื่องนี้ต้องทำงานกันอย่างหนัก เพราะแม้ ส.ว.จะยกมือสนับสนุนให้ 84 เสียง แต่ถ้า ส.ส.รัฐบาลไม่ยกมือโหวตก็ไปไม่รอด หลักใหญ่อยู่ที่รัฐบาลจะยินยอมให้แก้ไขหรือไม่ เมื่อถามว่ามีการเสนอให้พิจารณาแก้หมวด 1-2 ด้วย นายสุทินตอบว่า ในชั้นแปรญัตติสามารถตัดออกหรือเพิ่มเติมเนื้อหาสาระได้ทุกมาตรา ขึ้นอยู่กับ กมธ.จะเอาอย่างไร

“ไพบูลย์” ห้าวงัดเหลี่ยมสู้ “ชวน”

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ตามที่ประธานสภาฯไม่บรรจุญัตติที่ขอให้รัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยกรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับของพรรคฝ่ายค้าน มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเป็นญัตติด่วน แต่กลับบรรจุระเบียบวาระเฉพาะ 4 ญัตติเพิ่มเติมของพรรคฝ่ายค้าน มีการเลือกปฏิบัติหรือไม่ จะขอทราบเหตุผลที่ไม่บรรจุญัตติของตนในวันประชุมวันที่ 23 ก.ย. หากที่ประชุมรัฐสภามีมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับก็ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยก่อนว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงค่อยดำเนินการขั้นตอนต่อไปได้

“วรงค์” อ้างประชามติ 16.8 ล้าน

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก หัวหน้ากลุ่มไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ขอนัดหมายพี่น้องประชาชนไปร่วมส่งรายชื่อ 130,000 รายชื่อ มอบแก่ประธานสภาผู้แทน และประธานวุฒิสภา แสดงเจตนารมณ์คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเป็นผู้สถาปนา ในวันที่ 23 ก.ย.เวลา 09.00 น. ที่รัฐสภาใหม่ ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่ได้ผ่านประชามติรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาแล้ว 16.8 ล้านเสียง เท่ากับประชาชนเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ

“บิ๊กแดง” ทิ้งทวนขอสื่อเป็นกลาง

ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. กล่าวเปิดใจก่อนเกษียณอายุราชการว่า ตั้งแต่เข้ามารับราชการ และเป็น ผบ.ทบ. 2 ปี ได้รู้จักสื่อมวลชนมาตั้งแต่สมัยคุณพ่อ (พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทหารสูงสุด) ในห้วง 30 กว่าปีที่ผ่านมาได้สัมผัสกับสื่อหลายคน ยังจำภาพความเปลี่ยนแปลงทั้งทางทหาร ทางการเมือง ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงในการทำข่าว อยากให้สื่อมวลชนยึดความเป็นกลางนำเสนอข่าวที่เป็นสาระ และอยู่บนพื้นฐานความจริง การพาดหัวข่าวขึ้นอยู่กับเทคนิคของแต่ละคน เปรียบเหมือนการตลาดอย่างหนึ่ง หลังจากเกษียณไปคงไม่มีโอกาสมาให้ข่าวสื่อ แต่ขอให้สื่อรักษาจรรยาบรรณ จริยธรรม เป็นสิ่งที่เรายังต้องดำรงอยู่ไว้ การรักใครชอบใครต้องคำนึงถึงมนุษยธรรม และสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในบ้านเมือง ทุกคนต้องทำหน้าที่จะเชียร์หรือด่า ตนไม่เคยรู้สึกอะไรไม่ได้โกรธ หรือน้อยใจ สนใจโซเชียลมีเดียแต่ไม่เล่นเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม อยากจะบอกว่าที่สนใจก็เพื่อจะดูถึงความเปลี่ยนแปลง

ชินโดนด่ามาตั้งแต่ขึ้นเป็นผู้การฯ

พล.อ.อภิรัชต์กล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญมากที่สุดของทหารคือ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา ที่ไม่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกของเราในฐานะผู้บังคับบัญชาผ่านทางแอปพลิเคชันใดก็ตามในโลก ที่จะทำให้ลูกน้องรู้สึกว่า เราดูแลเอาใจใส่ได้เท่ากับที่เราลงไปทำจริงๆ ที่ผ่านมาจะเห็นว่าการให้ข่าวของ ผบ.ทบ.แต่ละท่าน ต้องพิจารณาถึงความสอดคล้องกับสถานการณ์ แต่ตนเมื่อให้ข่าวมีทั้งคนชมและคนด่าอยู่เสมอ แต่ก็ชินแล้ว เพราะโดนมาเยอะตั้งแต่เป็นผู้การฯ ผู้พัน โดนพาดหัวในสื่อหลายๆฉบับ หลายอย่างที่พูดออกมาก็เป็นวาทกรรม แต่ทุกอย่างนั้นหากนำไปคิดก็คือเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในชาติบ้านเมือง ทั้งนี้ พล.อ.อภิรัชต์ ได้แนะนำสื่อไปดูหนัง The social dilemma เนื้อหาเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเล่าประสบการณ์ของผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มต่างๆในโซเชียลมีเดีย และพูดถึงผลดีผลเสียจากการเสพสื่อโซเชียลเป็นประจำ

ศาลนัดฟังคดี “จตุพร” บุกสี่เสา

ที่ศาลอาญา ศาลนัดพร้อมคดีชุมนุมปิดล้อมบ้านสี่เสาเทเวศร์ ที่พัก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี (สำนวนที่สอง) คดีหมายเลขดำ อ.2799/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. และนายศราวุธ หลงเส็ง ผู้ชุมนุม นปช. เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 วรรคสอง, มาตรา 215 และมาตรา 216 หรือคดีบุกบ้านสี่เสาเทเวศร์ ที่จำเลยอื่นถูกศาลจำคุกไปหมดแล้ว แต่นายจตุพรถูกแยกออกมาเป็นคดีต่างหาก กรณีเมื่อวันที่ 22 ก.ค.2550 แกนนำและแนวร่วม นปช. นำขบวนผู้ชุมนุมหลายพันคน จากเวทีปราศรัยเคลื่อนจากสนามหลวง ไปยังบ้านพักสี่เสาเทเวศร์เรียกร้องกดดันให้ พล.อ.เปรมลาออกจากตำแหน่ง โดยวันนี้นายจตุพรและนายศราวุธ มาศาลพร้อมทนายความ และศาลกำหนดนัดพร้อมเพื่อฟังคำสั่งดังกล่าววันที่ 9 พ.ย.นี้

“บิ๊กป้อม” ปลื้ม 15 จังหวัดสะอาด

ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธานพิธีมอบรางวัลการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ระดับประเทศ ประจำปี 2562 ให้กับ 15 จังหวัด ที่ผ่านการประเมินจากทั้งหมด 76 จังหวัด โดยรางวัลชนะเลิศระดับกลุ่มจังหวัดขนาดใหญ่ ได้แก่ จ.อุดรธานี กลุ่มจังหวัดขนาดกลาง ได้แก่ จ.เลย และกลุ่มจังหวัดขนาดเล็ก ได้แก่ จ.ลำพูน พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า โครงการนี้เป็นเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาล การบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน ป้องกันแก้ไขปัญหามลพิษ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาของประชาคมโลก บ้านเมืองสะอาดเรียบร้อยสวยงามเป็นปัจจัยดึงดูดนักท่องเที่ยว เสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ จังหวัดที่ได้รับรางวัลทุ่มเทตั้งใจอย่างจริงจัง ขอให้จังหวัดอื่นๆนำไปเป็นต้นแบบและปรับใช้แก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในด้านอื่นๆด้วย

Let's block ads! (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( รุมกินโต๊ะแกนนำม็อบ โร่จับปักหมุดสนามหลวง - ไทยรัฐ )
https://news.google.com/__i/rss/rd/articles/CBMiL2h0dHBzOi8vd3d3LnRoYWlyYXRoLmNvLnRoL25ld3MvcG9saXRpYy8xOTM0NDYx0gEA?oc=5
ประเทศไทย

Bagikan Berita Ini

0 Response to "รุมกินโต๊ะแกนนำม็อบ โร่จับปักหมุดสนามหลวง - ไทยรัฐ"

Post a Comment

Powered by Blogger.